top of page
Writer's picturePakorntech

ข้อมูลทุกทิศทาง ตอนที่ 1

Updated: Apr 7, 2020



ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาข้อมูลที่แฝงอยู่ในการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ และการมีตัวตนอยู่ของอินเตอร์เน็ตนั้นถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญต่อชีวิตมนุษย์เลยก็ว่าได้ ข้อมูลซ้ำๆที่หลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสายนั้นอาจทำให้เราเป็นบ้าหรือเป็นโรคประสาทได้ถ้าไม่มีการจัดเก็บข้อมูลในสมองให้ดี การรับข้อมูลซ้ำๆทุกวันก็เช่นกันเพราะการที่เราจมอยู่กับข้อมูลเรื่องเดิมมากๆจะเหมือนถูกสะกดจิตทำให้เราประสาทได้โดยไม่รู้ตัว

คุณรู้ไหมว่าสมองของเราสามารถจัดเก็บข้อมูลได้ทุกอย่าง โดยจะแบ่งข้อมูลออกเป็นสามส่วน คือ ส่วนที่จำเป็น ส่วนที่ต้องใช้เลยและส่วนที่ไม่จำเป็น ซึ่งส่วนที่จำเป็นจะถูกจัดเก็บเป็นความทรงจำแบบ ความจำทันที (Immediate memory) ความจำระยะสั้น (Short-term memory) และความจำระยะยาว (Long-term memory) โดยสมองของเราจะพิจารณาข้อมูลและจัดเป็นสัดส่วนจากความถี่ที่เราใช้ข้อมูลนั้น เช่นการเรียนรู้ สิ่งที่เราเรียนมาทั้งหมดจะถูกจัดอยู่ในความทรงจำทันที แต่ความรู้นั้นถูกนำไปใช้เช่นเอาไปเล่าต่อ หรือเอาไปทำการบ้าน ความรู้นั้นจะถูกพิจารณาใหม่และจัดเก็บลงไปในความทรงจำระยะสั้น จนกระทั่งถูกนำมาใช้เป็นประจำ สมองของเราจึงจะจัดเก็บมันใหม่ในความทรงจำระยะยาว ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลว่าถ้าเราอ่านหนังสือก่อนสอบหนึ่งคืน พอสอบเสร็จปุ๊บจะลืมปั๊บเลย แต่ถ้าเราใช้ความรู้จากการอ่านหนังสือไปสอนเพื่อน เราจะสามารถจำได้แม่นยำกว่า และยังเป็นเหตุผลว่าทำไมอาจารย์ท่านต่างๆถึงไม่ลืมวิชาความรู้ นั่นก็เพราะว่าท่านสอนนักเรียนนักศึกษาบ่อยนั่นเอง

แล้วถ้าเกิดสมองเราสามารถจำทุกอย่างได้แบบไม่ลืมเลยจะเกิดอะไรขึ้น? หลายคนคงอิจฉาตาร้อนแต่ความจริงแล้วมันไม่ได้ดีอย่างที่คิด แต่ก็มีเคสที่เกิดขึ้นจริงๆ โดยผู้นี้มีนามว่า Nima Veiseh (นิม่า ไวเศจ) มนุษย์ผู้ซึ่งเป็นศิลปินที่ไม่เคยหลงลืม นิม่า นั้นสามารถจำได้ทุกอย่างตลอดช่วงระยะเวลา 15 ปี โดยเขาสามารถตอบได้ว่าแต่ละวันเขาผ่านอะไรมาบ้าง เจอใคร จดอะไร วันนั้นมีอุณหภูมิเท่าไหร่ เขาบอกว่าภายในหัวของเขามันเหมือนห้องสมุดใหญ่ห้องหนึ่ง ที่จะทำให้เขาสามารถเดินผ่านวันต่างๆที่ผ่านมาเหมือนวันนั้นเคยเกิดขึ้นจริงอีกครั้งหนึ่ง เขาจำได้แม้กระทั่งความรู้สึกที่ได้จับมือหรือได้ทำสิ่งต่างๆ มันคงเป็นเรื่องดีไม่น้อยถ้าทุกวันนั้นมีแต่ความสุข แต่วันแย่ๆที่มีความทุกข์ก็เช่นกัน วันที่โดนมีดบาดเขาก็สามารถจำได้เหมือนโดนบาดสดๆ ณ ตอนนั้น แน่นอน นิม่า ไม่ใช่บุคคลเดียวที่มีสมองแบบนี้ ยังมีอีกหลายคนที่สามารถจดจำทุกอย่างได้โดยไม่มีวันลืม

กลับกันลองมองย้อนกลับมาดูตัวเราเอง เราก็คงเป็นคนปกติทั่วไป แต่ทำไมเราถึงประสบความสำเร็จไม่เท่ากัน ทำไมบางคนถึงจำได้ดีกว่า ทำไมเราถึงไม่ดีเท่าคนนั้น คำตอบนั้นอยู่ที่ตัวเราเอง ตอนที่แล้วผมได้พูดถึงจินตนาการ ความรู้ และการรวมสองสิ่งนั้นเพื่อนำไปปฏิบัติกันแล้ว อาทิตย์นี้ เราจะมาเล่าถึงเรื่องการเก็บข้อมูลและแปรเปลี่ยนให้เป็นความรู้กัน

ในทางทฤษฎี ข้อมูลที่มากขึ้นรอบๆตัวเราจะทำให้เรารู้แน่ชัดมากขึ้นจากการพิจารณาข้อมูลว่าอะไรกันแน่ที่เป็นคำตอบที่ถูกต้อง แต่ในทางปฏิบัติแล้วมันกลับตรงกันข้ามเนื่องจากข้อมูลที่มากเกินไป (Excess Data) ทำให้เกิดสภาวะที่เรียกว่าการตาบอดข้อมูล (Information blindness) ซึ่งจะทำให้เราสูญเสียความสามารถในการแยกแยะนั้นเป็นเหตุผลว่าทำไมสังคมสมัยใหม่ถึงถูกข่าวลวง (Fake news) หลอกได้ง่ายๆ ถ้าข้อมูลนั้นอยู่รอบๆตัวเราอย่างล้นหลาม อย่างที่เกิดขึ้นกับข่าว Covit-19 และเมื่อมีข้อมูลที่มากเกินไปก็จะทำให้สมองของเราหยุดการซึมซับข้อมูลจนทำให้จำอะไรไม่ได้เลย ยกตัวอย่างเช่นการท่องหนังสือทั้งเล่มในคืนก่อนสอบ จะมีจุดๆหนึ่งที่สมองเบลอไปและจำอะไรไม่ได้เลย นั่นคือสภาวะที่สมองหยุดซึมซับข้อมูลนั่นเอง

ปัญหานี้สามารถแก้ได้ไม่ยากนัก โดยใช้กระบวนการ ค.ว.ย หรือ คิด วิเคราะห์ แยกแยะ โดยใช้เหตุผลและการเปรียบเทียบข้อมูลเข้ามาช่วย ทุกอย่างบนโลกเรานั้นเกิดขึ้นได้เพราะมีเหตุและผล ดังนั้นเมื่อเรารับข้อมูลอะไรมาก็ตาม คำถามแรกที่ต้องคิดคือ มีเหตุและผลหรือไม่ หลักจากนั้นนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกับข้อมูลอื่นๆหาความเกี่ยวเนื่องและความสัมพันธ์กันก่อนที่จะแยกข้อมูลที่ถูกและผิดออกจากกันและซอยออกมาเป็นข้อมูลย่อยๆ วิธีนี้เองนอกจากจะช่วยให้เรารับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องแล้วยังช่วยให้เราเปลี่ยนความทรงจำดังกล่าวจากความทรงจำแบบทันที เป็นความทรงจำแบบระยะสั้นถึงระยะยาวอีกด้วย นอกจากนี้กระบวนการดังกล่าวถือเป็นการทำให้เกิดการลงมือทำ ซึ่งเป็นหนึ่งในการพัฒนาความทรงจำด้วยเช่นกัน

มนุษย์เรานั้นยังสามารถซึมซับข้อมูลในปริมาณมหาศาลได้ตราบใดที่เราซอยข้อมูลนั้นออกเป็นชิ้นเล็กๆและจัดเก็บมันเป็นหมวดๆและลงไปปลุกปล้ำกับข้อมูลนั้นด้วยตัวเอง ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่คนบางคนสามารถตอบปัญหาหรือจำเรื่องราวที่เขาสนใจได้มากกว่าปกติ วิธีการซอยข้อมูลและนำมาใช้นั้นนอกจากใช้ได้ในชีวิตประจำวันแล้วยังสามารถใช้ในที่ทำงาน และจะพัฒนาประสิทธิภาพทางความคิดและความจำอีกด้วย เช่นสมมุติว่าเราเรียนภาษาใหม่ภาษาหนึ่ง สิ่งแรกที่เราต้องเรียนรู้คือภาษานั้นเรียงคำอย่างไร ใช้โทนเสียงในการพูดอย่างไร หน้าตาของตัวอักษรเป็นแบบไหน ตัวอักษรชุดไหนที่ใช้คล้ายกัน โดยพยายามจัดเป็นหมวดหมู่ไว้ เป็นต้นและนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้โดยการนำมาแต่งประโยค เขียนบล็อก หรือแม้กระทั่งฝึกพูดกับตัวเองหน้ากระจกหรือในห้องน้ำ เรื่องนี้ไม่ได้ตลกและถูกนำมาใช้จริงโดยผ่านการทดลองจาก Sid Efromovich ผู้ที่สามารถพูดได้ถึง 7 ภาษา และมีแนวโน้มว่าจะมากขึ้นอีก โดยสามารถดูได้ใน Link ที่ผมทิ้งไว้ให้ข้างล่าง

เพราะฉะนั้นแล้ว คราวหน้าที่เรารับข้อมูลจากภายนอกมาเยอะๆ อย่าลืม คิด วิเคราะห์ แยกแยะ โดยใช้หลักเหตุและผลรองรับกันนะครับ สำหรับวันนี้เราคงต้องลากันไปก่อน เจอกันใหม่กระทู้หน้า อย่าลืมดูแลรักษาสุขภาพกันด้วยนะครับ


 

Reference:

Sid Efromovich

Book: Smarter Faster Better ของ Charles Duhigg

9 views0 comments

Σχόλια


bottom of page