top of page
Writer's picturePakorntech

จินตนาการสำคัญกว่าความรู้...จริงดิ

Updated: Apr 3, 2020



คุณคิดว่าวิทยาศาสตร์คืออะไร? การที่มนุษย์ทำการทดลองในห้องทดลอง หรือศึกษาหาความจริงที่ยังไม่มีใครล่วงรู้เช่นนั้นหรือ? ความจริงแล้ววิทยาศาสตร์นั้นอยู่ที่ “มุมมอง” ไม่ได้เป็นแค่สิ่งที่อยู่ในห้องทดลองหรือชุดเครื่องมือที่มีเพียงนักวิทยาศาสตร์เท่านั้นที่ใช้ได้ แต่วิทยาศาสตร์เป็นศาสตร์ที่มนุษย์ทุกคนสามารถนำมาประยุกต์ใช้โดยผ่านกระบวนการคิดแบบเหตุและผลบวกกับจินตนาการเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ ดังนั้นวิทยาศาสตร์จึงมีหลากหลายวิชา เช่นวิทยาศาสตร์การออกแบบ วิทยาศาสตร์การกีฬา หรือแม้กระทั่งหลักบริหารซึ่งก็นำหลักการทางวิทยาศาสตร์มาใช้งานผ่านการลองผิดลองถูกมานับ 100 ปีจนเกิดตรรกะการบริหารที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ เช่นการผลิตแบบลีน (Lean manufacturing) ซึ่งเป็นหลักการที่ใช้ในระบบการผลิตรถยนต์ที่ Toyota ใช้ในปัจจุบัน และเป็นตัวพลิกผันที่โรงงาน นุมมิ ของ GM motor ได้นำมาแก้ไขปัญหาจนกลับมาเป็นโรงงานที่มีคุณภาพมากที่สุดและเป็นตัวอย่างการผลิตรถยนต์ในอเมริกา นอกจากนี้ลักษณะการผลิตแบบ Lean ยังมีการนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำหรับจัดการทรัพยากรอย่างแพร่หลายอย่างไม่น่าเชื่อ ยกตัวอย่างเช่น ซิลิคอนวัลเลย์ ฮอลลีวูดรวมไปถึงสถานที่ให้บริการต่างๆอีกด้วย

การมองโลกในมุมมองวิทยาศาสตร์นั้นไม่ยากเพียงแค่เราต้องหัดตั้งคำถามแบบมีเหตุและผล เช่นถ้าเราเห็นขวดเบียร์อยู่หนึ่งขวดตั้งอยู่เราจะเห็นอะไรในขวดเบียร์นั้นบ้าง บางคนอาจจะเห็นแค่ขวด บางคนอาจจะเห็นราคา ประเทศที่ผลิต สไตล์การออกแบบ แต่สำหรับการมองแบบวิทยาศาสตร์แล้วคงหนีไม่พ้น วัตถุดิบ กระบวนการผลิต และสิ่งที่สะกิดตาทำให้เกิดความสงสัย ทำไมแก้วที่นำมาผลิตต้องเป็นสีขุ่น??? ทำไมไม่เป็นสีใสแบบที่ใส่น้ำอัดลม แล้วทำไมแก้วถึงใสทั้งๆที่วัตถุดิบตั้งต้นก็เป็นแค่ทราย ถ้าเราเปลี่ยนวัตถุดิบเป็นอย่างอื่นจะเอาอะไรมาทดแทนได้บ้าง เป็นต้น การตั้งคำถามจะเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดการค้นคว้าหาข้อมูลและความอยากรู้ซึ่งจะทำให้เกิดการเรียนรู้เพื่อหาคำตอบ บางครั้งการตั้งคำถามอาจจะฟังดูไม่มีเหตุผลในครั้งแรก แต่ถ้ามีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำข้อมูลสะท้อนกลับมารวมกับวิชาความรู้ การออกแบบและจินตนาการแล้วอาจจะเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ใครจะรู้ เช่น ระบบการสื่อสารที่คนโบราณใช้นกพิราบส่งข่าวและพัฒนาต่อมาเป็นโทรศัพท์ที่ผู้คนได้ใช้พูดคุยกันจนเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในปัจจุบัน โดยวิธีการที่ใช้นั้นจะขึ้นอยู่กับองค์ความรู้และนำมาประยุกต์ใช้ให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ

อีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน คือการออกแบบ ถือเป็นส่วนสำคัญเช่นเดียวกับวิธีการคิด การออกแบบนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับกลุ่มนักออกแบบ แต่ความจริงแล้วมนุษย์ทุกคนสามารถออกแบบเองได้ตลอดเวลา ผ่านการรับรู้ ประมวลผล แยกแยะข้อมูล เชื่อมโยง หาเหตุผล ประเมินคุณค่าและจัดเก็บข้อมูล ทุกอย่างล้วนเกิดขึ้นในสมองที่แตกต่างกัน เราจึงมองเห็นโลกภายนอกต่างกัน จนสามารถพูดได้ว่าความคิดของเราเองนี่แหละที่เป็นตัวออกแบบโลกที่เรารับรู้อยู่ในปัจจุบัน และนั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมมนุษย์ถึงไม่ลงรอยกันซักที ทำไมทุกอย่างถึงมีมุมมองสองมุมเสมอ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นถ้ามนุษย์ทุกคนมีการออกแบบความคิดที่เป็นเหตุและผล ผมคิดว่าโลกของเราคงวุ่นวายน้อยลงไม่มากก็น้อยแน่นอน

เราจะเห็นได้ว่าจินตนาการกับความรู้นั้นสำคัญกันทั้งคู่ เราจึงไม่ควรละทิ้งสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ดังนั้นประโยคที่ว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” นั้นอาจจะขาดนัยยะสำคัญไปอีกประโยคหนึ่งคือ “แต่ความรู้ก็เป็นบ่อเกิดจินตนการเช่นกัน” และการรวมทั้งสองศาสตร์นั้นจะสามรถทำได้โดย “ลงมือทำ” นำสิ่งที่ออกจากสมองออกมาสู่โลกภายนอกผ่านสองมือของเราไม่เช่นนั้นเราอาจจะติดอยู่แต่ในโลกแห่งจินตนาการและติดอยู่กับความคิดที่ว่า”เป็นไปไม่ได้” กลับกันสิ่งที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้ มันล้วนเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ทั้งนั้นถ้าเราถามคนในยุคอดีต ทั้งอินเตอร์เน็ต ทั้งโทรศัพท์ หรือแม้กระทั่งรถยนต์ และผมคิดว่าเวลานี้แหละที่ผู้คนอยู่บ้านจากสถานการณ์ Covit-19 เป็นเวลาที่ดีที่เราจะได้อยู่กับตัวเอง ค้นหาจินตนาการผ่านเหตุผล ทบทวนชีวิต และริเริ่มทำบางสิ่งบางอย่างไม่ว่าสิ่งนั้นจะเล็กแค่ไหนก็ตาม โดยเริ่มจากสิ่งที่เรา “ว่าจะทำ” แต่ไม่ทำซักทีและลองพิจารณาการมองโลกแบบมีเหตุผลแบบไม่ประสาทกินกันนะครับ ทุกสิ่งล้วนมีเหตุและผล การที่คุณอ่านมาถึงจุดนี้ก็เช่นกัน ไว้เจอกันใหม่ในสัปดาห์หน้าครับ


 

Reference:

Book: DE Science ของ อาจารย์วัทมาศ

Book: Smarter Faster Better ของ Charles Duhigg


เรียบเรียงโดย ธนกฤษณ์ ศรีสุวรรณ

71 views0 comments

Comments


bottom of page